คำถามที่พบบ่อย

น้ำหนักเท่าไหร่ถึงจะผ่าตัดได้

1. เป็นผู้ที่มีดัชนีมวลกาย หรือ ค่า BMI ตั้งแต่ 32.5 ขึ้นไป และมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ปวดหัวเข่า ข้อเสื่อม หยุดหายใจขณะนอนหลับ นิ่วในถุงน้ำดี ถุงน้ำรังไข่หลายใบ โดยมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ และขนดก เป็นต้น
2. เป็นผู้ที่มีดัชนีมวลกาย หรือ ค่า BMI ตั้งแต่ 37.5 ขึ้นไป แต่ไม่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย
3. เป็นผู้ที่พยายามลดน้ำหนัก แต่ไม่เห็นผล และแน่นอนว่าต้องมีค่า BMI ถึงเกณฑ์เท่านั้นจึงจะสามารถทำการผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักได้ โดยควรปรึกษากับคุณหมอโดยตรงแบบ case by case ค่ะ

อายุเท่าไหร่ถึงผ่าตัดกระเพาะได้

อายุ 18-65 ปี สามารถผ่าตัดได้

        ไม่แนะนำผ่าตัดในผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี เนื่องจากผลเสียจะมากกว่าผลดี เช่น กระดูกเริ่มบางแล้วเมื่อเทียบกับคนอายุน้อยกว่า หากผ่าตัดไปแล้วรับประทานแคลเซียมไม่เพียงพอ หรือขาดวิตามินดี จะทำให้กระดูกบาง หรือพรุน หักง่าย

        สำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี อาจมีข้อบ่งชี้บางอย่างที่สามารถผ่าตัดได้ คือ มีโรคร่วมที่รุนแรง เช่น เบาหวาน หยุดหายใจขณะนอนหลับ ความดันโลหิตสูง ไขมันเกาะตับรุนแรง ทั้งนี้ควรได้รับการตรวจจากแพทย์เฉพาะทาง และได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองที่มีความเข้าใจเรื่องการผ่าตัดและการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด เป็นอย่างดี

แผลผ่าตัดเป็นอย่างไร

        เนื่องจากเป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้องแผลเล็ก และด้วยเทคนิคเฉพาะของหมอเอง ก็เลยมีแผลผ่าตัดเพียงแค่ 3 รูเล็กๆ เท่านั้น โดยเป็น

  1. แผลขนาด 1.5 เซนติเมตร จำนวน 2 แผล
  2. แผลขนาด 0.5 เซนติเมตร จำนวน 1 แผล

กระเพาะอาหารส่วนที่ตัดทิ้ง ถูกนำออกมาทางแผลล่างสุด ตามในรูปค่ะ

        ดังนั้นการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน จึงเป็นการผ่าตัดที่แผลเล็ก เจ็บน้อย และฟื้นตัวไวค่ะ

ดูแลแผลผ่าตัดอย่างไร
  1. ระวังไม่ให้แผลโดนน้ำ จนกว่าจะแน่ใจว่าแผลแห้งสนิทแล้ว ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 7-14 วัน
  2. เมื่อแผลแห้งแล้ว สามารถเริ่มทาครีมลดรอยแผลเป็นต่างๆ ได้เลย
  3. การปิดแผลด้วยแผ่นซิลิโคน สามารถช่วยลดการเกิดแผลเป็นนูนขึ้นหรือคีลอยด์ได้ โดยเริ่มปิดได้ตั้งแต่แผลผ่าตัดแห้ง
  4. การมีก้อนแข็งๆ ใต้แผลผ่าตัดช่วงแรกๆ เป็นเรื่องปกติ เกี่ยวข้องกับกระบวนการหายของแผล ก้อนนี้จะค่อยๆ ยุบหายไปในที่สุด
  5. สามารถทำเลเซอร์เพื่อให้สีของแผลเป็นจางลงได้ตั้งแต่ 6 เดือนหลังผ่าตัด
  6. สามารถฉีดยาลดการนูนของแผลเป็น (คีลอยด์) ได้ตั้งแต่ 6 เดือนหลังผ่าตัด
อาหารที่สามารถทานได้หลังผ่าตัด

        หลังผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน แผลที่ผ่าตัดยังอาจไม่ติดดี 100% หากทานอาหารข้ามระยะแล้วมีอาการอาเจียนรุนแรงจนอาจทำให้แผลในกระเพาะ ที่เย็บไว้ปริได้จากความดันในกระเพาะอาหารเพิ่มสูงขึ้น มีปัญหากระเพาะรั่วตามมาได้ ดังนั้นหมอจึงขอแนะนำการรับประทานอาหารตามระยะ

ระยะที่ 1 ระยะอาหารเหลว (14 วันแรกหลังผ่าตัด)
อาหารเหลวที่แนะนำ :

1. นมทางการแพทย์หรือนมโปรตีนสูง

ข้อดี : เป็นอาหารทางการแพทย์ในรูปแบบของเหลวที่พลังงานสูงมาก และสารอาหารครบ หากทานครบตามที่กำหนด (4 แก้วต่อวัน) จะได้พลังงานเท่ากับที่ร่างกายต้องการต่อวัน คือ 800 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ไม่มีปัญหาขาดสารอาหารและโปรตีน ไม่มีปัญหาโซเดียมเกิน

ข้อเสีย : กินหลายๆ มื้อแล้วอาจเลี่ยนได้ แนะนำเปลี่ยนยี่ห้อบ่อยๆ หรืออาจเอาไปแช่เย็น หรือปั่นได้

2. ซุปต่างๆ

ข้อดี : อร่อย ทานง่าย

ข้อเสีย : พลังงานสารอาหารต่างๆ และโปรตีนอาจไม่เพียงพอต่อความ
ต้องการของร่างกาย อาจทำให้ไม่มีแรงได้ และต้องระวังเรื่องโซเดียมว่าไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน

ระยะที่ 2 ระยะอาหารอ่อน (15 - 28 วันหลังผ่าตัด) เช่น ไข่ตุ๋น ไข่ต้ม ต้มจืดเต้าหู้หมูสับ ต้มเลือดหมู ปลานึ่ง ปลาย่าง ปลาเผา

ระยะที่ 3 ระยะอาหารแข็ง (หลังผ่าตัด 1 เดือนเป็นต้นไป) เช่น อาหารทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน

อาหารชนิดไหนสามารถรับประทานได้เมื่อไหร่หลังผ่าตัด

1. ส้มตำ ของแซ่บๆ

  • เริ่มทานได้ 3 เดือนหลังผ่าตัด
    ระวังในเรื่องแป้ง น้ำตาล และเครื่องปรุงรสจัดที่ถ้าทานบ่อยๆ อาจทำให้น้ำหนักค้างได้
  • บางท่านอาจทานเผ็ดเหมือนเดิมไม่ได้ แต่บางท่านอาจทานเผ็ดได้มากกว่าเดิม ทั้งนี้ไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถบอกได้นะคะ

2. แซลมอนดิบ ของดิบต่างๆ

  • เริ่มทานได้ 3 เดือนหลังผ่าตัด
    ระวังเรื่องพลังงานในแซลมอนที่ถ้าทานมากเกินไปน้ำหนักอาจค้างได้ อย่าลืมออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย
  • และต้องเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืนด้วยนะคะ

3. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

  • จริงๆ ไม่แนะนำ แต่ถ้าจะดื่มจริงๆ เริ่มได้ 6 เดือนหลังผ่าตัด
  • ระวังเมาง่ายกว่าปกติ เพราะกินปุ๊บ กระเพาะอาหารจะดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าร่างกายได้เร็วกว่าเดิมมากค่ะ
  • หลีกเลี่ยงโซดา เพราะมีแก๊ส จะทำให้กระเพาะขยายได้ และอืดท้องได้

4. ข้าวเป็นเม็ดๆ

  • เริ่มทานได้บ้าง 6 เดือนหลังผ่าตัด
  • แนะนำเป็นข้าวที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวกล้อง เป็นต้น
  • ทานเร็วไประวังกลุ่มอาการ Dumping จะมีใจสั่น หน้ามืด เวียนหัว ปวดท้อง ท้องเสียได้

5. ผักสด

  • เริ่มทานได้ 3 เดือนหลังผ่าตัด
  • ระวังผักมีแป้ง เข่น ข้าวโพด เผือก มันต่างๆ จะทำให้น้ำหนักค้างได้
ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้การผ่าตัดได้ผลดีที่สุด
1. หลีกเลี่ยงอาหารพวกข้าว แป้ง น้ำตาล น้ำหวาน ของทอด ของมัน และอาหารแปรรูป โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก
2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน
3. เริ่มออกกำลังกายอย่างหนักได้ตั้งแต่ 1 เดือนหลังผ่าตัด
ข้อห้ามหลังผ่าตัดมีอะไรบ้าง
หลังการผ่าตัดคนไข้สามารถใช้ชีวิตตามได้ปกติ แต่ขอให้หลีกเลี่ยงการยกของหนักมากกว่า 5 กิโลกรัมใน 1 เดือนแรก และงดการมีเพศสัมพันธ์ทุกช่องทางใน 2 สัปดาห์แรก เพื่อป้องกันไม่ให้แผลที่เย็บในกระเพาะปริค่ะ
เลือกวิตามินเสริมหลังผ่าตัดอย่างไร

หลักการเลือกวิตามินหลังผ่าตัดกระเพาะ ควรมีส่วนประกอบขั้นต่ำดังนี้

  • Folic acid 400 microgram
  • Thiamine หรือ Vitamin B1 12 milligram
    Vitamin D3 3,000 IU
  • Vitamin B12 แบบรับประทาน 500 microgram หรือฉีดทุกๆ 1 หรือ 6 เดือน หากผ่าตัดแบบบายพาส
  • Calcium 1,200 - 1,500 milligram
  • Iron 18 milligram สำหรับการผ่าแบบสลีฟ หรือ 45-60 milligram สำกรับการผ่าแบบบายพาส
  • Zinc 8-11 miiligram สำหรับการผ่าแบบสลีฟ หรือ 16 milligram สำหรับการผ่าแบบบายพาส
พักฟื้นนานแค่ไหน
นอน รพ. ก่อนผ่าตัด 1 คืน และหลังผ่าตัด 3 คืน รวมทั้งหมดเป็น 4 คืน
อาการที่เจอได้บ่อยหลังผ่าตัดในช่วงแรกมีอะไรบ้าง

1. คลื่นไส้อาเจียน

  • มักเกิดจากการทานอาหารเร็วเกินไป เคี้ยวไม่ละเอียด หรือดื่มน้ำพร้อมอาหาร
  • แก้ไขโดยการปรับวิธีการรับประทานอาหารให้ถูกต้อง
  • หากคิดว่าอาหารอาเจียนนี้ไม่เกี่ยวกับสาเหตุข้างต้น แนะนำปรึกษาแพทย์

2. ขมปาก การรับรสเปลี่ยนไป

  • เกิดทันทีหลังผ่าตัด ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง
  • ร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัวได้ จะหายไปประมาณ 6-8 สัปดาห์หลังผ่าตัด แต่บางรายอาจมีอาการได้อยู่ประมาณ 25%
  • แก้ไขได้โดยการใช้น้ำยาบ้วนปากหลังแปรงฟันเช้า-เย็น หรือฝานลูกมะนาวแบ่ง 1/3 ส่วน แล้วบีบใส่ปาก แต่ไม่แนะนำดื่มน้ำมะนาว

3. ท้องผูก

  • เกิดจากปริมาณอาหารและลักษณะอาหารเปลี่ยนไปจากก่อนผ่าตัดมาก หลังผ่าตัด 4-5 วันถ่ายครั้งคือปกติ
  • แนะนำดื่มน้ำให้ถึง 2 ลิตรต่อวัน ทานอาหารที่มีไฟเบอร์ หากยังไม่ถ่ายสามารถทานยาระบายชื่อ Milk of Magnesia หรือ Dulcolac หากยังไม่ถ่ายอีก สามารถใช้ยาสวนทวาร Unison ได้

4. มีลมในท้อง

  • พบได้บ่อยโดยเฉพาะช่วง 2-3 สัปดาห์แรก
  • เกิดจากกระเพาะอาหารมีขนาดลดลง ทำให้การดูดซับลมในกระเพาะลำไส้ลดลง แต่ลมในท้องยังมีเท่าเดิม เลยรู้สึกเหมือนมีลมเยอะ ลมตีขึ้นมาทางปาก หรือผายลมออกไปเยอะ
  • หากไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย จะถือว่าปกติ
  • การเดินเยอะๆ จะช่วยได้
  • ยาขับลมในกลุ่มของ Simethicone อาจพอช่วยได้บ้างแต่ไม่เยอะ เช่น Air-X

5. ขาดน้ำ

  • เกิดจากการดื่มน้ำได้น้อย
  • มีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด ใจสั่น ผิวแห้ง ปากแห้ง มีฝ้าขาวที่ลิ้น ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม หรือปัสสาวะออกน้อย หากขาดน้ำมากอาจทำให้ไตวายได้
  • ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 1.5 -2  ลิตรต่อวัน โดยเริ่มจาก 1.5 ลิตรต่อวันในช่วงแรกแล้วค่อยๆ ปรับเป็น 2 ลิตรต่อวัน หรือดูสีปัสสาวะให้ดื่มน้ำจนปัสสาวะเป็นสีเหลืองใส

6. ผมร่วง

  • พบได้ช่วงเดือนที่ 3 หลังผ่าตัด
  • เกิดจากร่างกายมีการสูญเสียโปรตีนและฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลังการผ่าตัด
  • พบได้ประมาณ 30%
  • ผมที่ร่วงจะเริ่มขึ้นใหม่เดือนที่ 6 จากที่เริ่มร่วง และจะค่อยๆ ขึ้นมาจนเต็มศีรษะไม่ใช่ร่วงตลอดไปหรือกลายเป็นคนไม่มีผม
  • แนะนำรับประทานอาหารโปรตีนเป็นหลักต่อไป หรือเสริมวิตามินพวกซิ้งค์ ไบโอติน เป็นคอลลาเจนแบบไดเปปไทด์ และไม่มีสารให้ความหวานหรือน้ำตาล
ตั้งครรภ์ได้เมื่อไหร่
แนะนำให้ตั้งท้องหลังผ่าตัดกระเพาะอย่างน้อย 1 ปี
กิจกรรมความงามต่างๆ สามารถทำได้เมื่อไหร่หลังผ่าตัด
  1. ฉีดโบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ - ทำได้เลยหลังผ่าตัด
  2. Ulthera Thermage Hifu - ทำได้เลยหลังผ่าตัด
  3. เสริมหน้าอก - แนะนำทำได้ตั้งแต่ 6 เดือนหลังผ่าตัด เพื่อรอให้น้ำหนักตัวลงให้ดีก่อน จะได้เลือกขนาดซิลิโคนได้เหมาะสมกับตัว แต่ถ้าใครไม่ซีเรียสเรื่องนี้ จะทำหลังผ่าตัดกระเพาะเลยก็ได้
  4. เสริมจมูก และทำตา 2 ชั้น - แนะนำท 6 เดือนหลังผ่าตัดเช่นกัน เหตุผลคือรอให้น้ำหนักตัวลงดีก่อน จะได้เลือกรูปทรงจมูก และชั้นตาให้เหมาะกับรูปหน้าตอนที่น้ำหนักลงแล้วได้ดีมากขึ้น แต่ถ้าใจร้อน อยากทำเลย ก็ทำได้เหมือนกันค่ะ
  5. ตัดเหนียงที่คาง - แนะนำทำได้ตั้งแต่ 6 เดือนหลังผ่าตัด เพราะอยากให้รอน้ำหนักลง รูปหน้าคงที่ แล้วค่อยไปตัดเหนียงออกได้
  6. ทุบหน้า ตัดกราม - ทำได้เลยหลังผ่าตัด
  7. ตัดหนังย้วยหน้าท้อง ท้องแขน ปีกหลัง หน้าอก ต้นขา - ทำได้ตั้งแต่หลังผ่าตัด 1 ปี ต้องรอให้น้ำหนักคงที่ก่อน
  8. ฉีดสิวที่หน้า - ทำได้เลยหลังผ่าตัด
  9. เลเซอร์แผลผ่าตัด - ทำได้หลัง 6 เดือน ทำให้รอยแผลผ่าตัดจางลง
  10. ฉีดคีลอยด์แผลผ่าตัด - ฉีดได้หลัง 6 เดือนถ้าแผลนูน แต่ถ้าไม่นูนไม่แนะนำฉีดเพราะจะทำให้แผลบุ๋มแทน
กลับไปทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ หลังผ่าตัดได้เมื่อไหร่

1. ขับรถยนต์หรือขี่มอเตอร์ไซค์

  • สามารถขับรถยนต์หรือขี่มอเตอร์ไซค์ได้ทันทีตั้งแต่ออกจาก รพ. แต่แนะนำว่า
    ควรเป็นรถเกียร์ออโต้นะคะ
  • มีหลายท่านที่ออกจาก รพ. แล้วขับรถกลับเชียงใหม่ เชียงรายเองได้เลยค่ะ

        **ถ้าเป็นเกียร์ธรรมดาหรือมีคลัทช์จะต้องใช้แรงมากกว่าปกติ อาจเจ็บแผล และมีผลต่อแผลได้ ให้รอ 1 เดือนหลังผ่าตัดค่อยขับหรือขี่รถเกียร์ธรรมดาได้ค่ะ

2. ทำงานนั่งโต๊ะ

  • สามารถทำได้ทันทีตั้งแต่ใน รพ. หมอเห็นมีเพื่อนๆ หลายท่านมานั่งทำงานออนไลน์ ประชุมออนไลน์กันตั้งแต่หลังผ่าตัดเสร็จเลยค่ะ

3. ยืนนานๆ

  • สามารถยืนนานๆ ได้ตั้งแต่อยู่ใน รพ. และออกไปทำงานที่ยืนนานๆ ได้ค่ะ

4. เดินเยอะๆ หรือเดินขึ้นลงบันได

  • สามารถเดินเยอะๆ ได้ตั้งแต่วันแรกหลังผ่าตัดค่ะ

        **หมอไม่แนะนำให้นอนอยู่บนเตียงตลอดนะคะ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด อุดตันในเส้นเลือดที่ท้องหรือปอด

  • ท่านที่มีบ้านหลายชั้น หรือที่มำงานหลายชั้น ก็สามารถเดินขึ้นลงยันไดได้ตามปกติเลยค่ะ

5. ยกของหนัก

        **ห้ามยกของหนักเกิน 5 กิโลกรัมในช่วง 1 เดือนแรกหลังผ่าตัด เพราะมีผลเพิ่มความดันในกระเพาะอาหารและช่องท้อง มีผลต่อแผลผ่าตัดทั้งภายในและภายนอก อาจทำให้แผลปริได้

  • หลัง 1 เดือนไปแล้วสามารถยกของหนักได้เลย แต่ถ้าของที่หนักมากๆ อาจต้องหลัง 2 เดือนนะคะ

6. นวด

  • นวดตัวได้ตั้งแต่ 2 เดือนหลังผ่าตัด
  • นวดเท้าได้ตั้งแต่ออก รพ. เลย
  • นวดคอ บ่า ไหล่ได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด

7. อบตัว อบสมุนไพร อบซาวน่า

  • สามารถทำได้ตั้งแต่ 2 เดือนหลังผ่าตัด

8. ออกกำลังกาย

  • สามารถเริ่มออกกำลังกายได้ตั้งแต่ 1 เดือนหลังผ่าตัดเลยค่ะ

9. มีเพศสัมพันธ์

  • แนะนำงดการมีเพศสัมพันธ์ทุกช่องทาง 14 วันแรกหลังผ่าตัด เนื่องจากแผลข้างในยังไม่สนิทดี หากรุนแรงหรือสำลัก อาจทำให้แผลปริได้
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy