แชร์

5 ข้อดีของนมทางการแพทย์ หลังผ่าตัด 14 วันแรก

อัพเดทล่าสุด: 6 ก.ค. 2023
776 ผู้เข้าชม

5 ข้อดีของนมทางการแพทย์ หลังผ่าตัด 14 วันแรก

นมทางการแพทย์ จริงๆ แล้วไม่ใช่นม แต่เป็นอาหารทางการแพทย์ในรูปแบบของเหลว วัตถุประสงค์คือมีไว้สำหรับผู้ที่กินอาหารได้น้อย หรือมีแนวโน้มจะกินได้น้อยเป็นเวลา 7 วันขึ้นไป แต่ว่าอยากให้ได้พลังงานหรือแคลอรี่เยอะๆ จากอาหารที่กินเข้าไป เช่น ผู้ป่วยที่นอนติดเตียง หรือผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง

การนำนมทางการแพทย์มาใช้ในผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระเพาะ มีเหตุผลดังนี้

1️⃣ พลังงานสารอาหารครบ

ทำให้มีแรงทำงานได้ตามปกติ โดยนมทางการแพทย์ 1 แก้ว (แบบที่ยังไม่ผสมเวย์) ให้พลังงานสูงถึง 220 กิโลแคลอรี่ ในขณะที่นมทั่วไป 1 แก้ว ให้พลังงานเพียงแค่ 110 กิโลแคลอรี่

ซึ่งการผสมเวย์ (แนะนำแบบไม่มีรสชาติ) เข้าไปในสูตรคนไข้หลังผ่าตัดกระเพาะ เพื่อเพิ่มปริมาณโปรตีนไปอีก จะยิ่งทำให้พลังงานสูงไปอีก บางสูตรการผสม จะทำให้พลังงานสูงถึง 300+ กิโลแคลอรี่เลยทีเดียว

หากจะเปรียบเทียบกับซุปต่างๆ คงบอกได้แน่นอนว่าพลังงานและสารอาหารต่างๆ ต้องน้อยกว่านมทางการแพทย์แน่นอน

2️⃣ โซเดียมไม่เกิน

ปกติแล้วเราไม่ควรรับประทานโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หากเรารับประทานแต่น้ำซุป ซึ่งอาจจะเป็นน้ำซุปที่เรารู้หรือไม่รู้ปริมาณโซเดียม อาจทำให้ปริมาณโซเดียมต่อวันเกินได้ ส่งผลต่อการทำงานของไต โดยเฉพาะหากเราดื่มน้ำเปล่าได้น้อย จะยิ่งทำให้ไตทำงานหนักไปกันใหญ่

3️⃣ เหมาะกับช่วงอาหารเหลว

หลังผ่าตัด ควรรับประทานเป็นระยะเรียงลำดับกันไป โดยเริ่มจากอาหารเหลวก่อนในช่วง 2 สัปดาห์แรก แล้วไปอาหารอ่อนในสัปดาห์ที่ 3-4 และเป็นอาหารแข็งหลัง 1 เดือนไป เนื่องจากต้องการรอให้แผลด้านในปิดสนิทดี การรับประทานอาหารข้ามขั้นตอน หากเคี้ยวไม่ละเอียด หรืออาหารชิ้นใหญ่ไป หรือแข็งไป อาจกระตุ้นให้เกิดการอาเจียน แล้วแผลข้างในอาจปริหรือมีปัญหาได้

4️⃣ ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยเบาหวานไม่มีน้ำตาลต่ำหรือสวิง ไม่เกิด Dumping Syndrome เพราะค่อยๆ ปล่อยน้ำตาลออกมา เนื่องจากมีค่าดัชนีน้ำตาล (GI index) ต่ำ

นมทางการแพทย์ที่แนะนำที่ขึ้นทะเบียนว่ามีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ได้แก่ Nutren, Once Pro และ Glucerna SR ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวนิลาที่ได้มีการแจ้งว่าค่า GI index ต่ำ

หากเป็นตัวที่ไม่ได้มีค่า GI index ต่ำ จะมีปัญหาเรื่องน้ำตาล หรือ Dumping Syndrome ได้

5️⃣ น้ำหนักลงดี

เพราะควบคุมเรื่องแคลอรี่ได้ดีกว่าการรับประทานอาหารอื่นๆ

อย่างไรก็ตามปัญหาของนมทางการแพทย์ที่พบมีดังนี้

1️⃣ รสชาติ

มีรสวนิลาเพียงรสเดียว ทำให้เบื่อหรือเลี่ยนได้หากรับประทานไปหลายๆ วัน 

แก้ไขได้โดยการนำไปปั่นเป็นสมู้ทตี้ หรือแช่เย็นได้ หรือแม้แต่การสลับรับประทานกับยี่ห้ออื่นๆ 

2️⃣ ถ่ายเหลว

ไฟเบอร์ในนมทางการแพทย์อาจทำให้ถ่ายเหลวได้ง่ายกว่าปกติ หากหยุดนมแล้วอาการจะดีขึ้น


สุดท้ายนี้หมอขอย้ำอีกครั้งว่า นมทางการแพทย์นี้จะแนะนำในเฉพาะช่วง 14 วันแรกเท่านั้น หลังจากนี้ไปควรรับประทานอาหารอ่อน และอาหารแข็งตามลำดับ เพราะเราควรรีบกลับมาใช้ชีวิตปกติให้เร็วที่สุด การรับประทานนมทางการแพทย์ในช่วงแรกเป็นเหมือนตัวช่วยในการเปลี่ยนผ่านเท่านั้น และอย่าลืมดื่มน้ำเปล่าให้ถึง 2 ลิตรต่อวัน เพื่อให้ระบบต่างๆ ในร่างกายยังทำงานได้ตามปกตินะคะ


ด็อกเตอร์โยโกะ ผ่าตัดกระเพาะ  


บทความที่เกี่ยวข้อง
5 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการผ่าตัดกระเพาะรักษาโรคอ้วน
วันนี้หมอจะมาเล่าให้ฟังเรื่องการผ่าตัดกระเพาะที่หมอมักจะได้ยินจากคนไข้หรือคนทั่วไปเกี่ยวกับการผ่าตัดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วนค่ะ
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy