อัพเดทล่าสุด: 6 ก.ค. 2023
2512 ผู้เข้าชม
1. ประมาณ 40% ของคนไข้หลังผ่าตัดกระเพาะจะมีอาการท้องผูกได้ ซึ่งอาการท้องผูกนี้จะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 6 เดือน มักเป็นอาการชั่วคราว แต่บางรายยังอาจมีอยู่จนถึง 1 ปี
2. สาเหตุของอาการท้องผูกหลังผ่าตัดกระเพาะมีดังนี้
- ปริมาณอาหารที่รับประทานเข้าไปลดลงไปจากเดิมมาก ดังนั้นอาจจะไม่ได้ถ่ายทุกวันเหมือนเดิม ในช่วงแรก 5-6 วันถ่ายทีเป็นเรื่องปกติ แต่จะค่อยๆ ลดลงเหลือ 4-5 วันถ่ายที และ 3-4 วันถ่ายทีในช่วงหลัง
- ลักษณะอาหารที่เน้นโปรตีนเป็นหลัก ทำให้ทานอาหารที่มีไฟเบอร์หรือกากใยลดลง ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์เพิ่มในผู้ที่มีอาการท้องผูก
- การดื่มน้ำเปล่าได้น้อย ทำให้ท้องผูกได้ เนื่องจากปริมาณน้ำที่น้อยเกินไป ทำให้ลำไส้ใหญ่ดูดซึมน้ำได้น้อย ส่งผลให้อุจจาระเป็นก้อนแข็ง
- ฮอร์โมนในระบบทางเดินอาหารอาหารมีการเปลี่ยนแปลงหลังผ่าตัด ทำให้ท้องผูกได้ในช่วงแรก
- มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยเกินไปหลังผ่าตัด ทำให้ลำไส้ทำงานได้น้อยเกิดอาการท้องผูกได้
3. คำแนะนำเพื่อลดอาการท้องผูกหลังผ่าตัด
- ขยับร่างกายให้ได้มากที่สุด พยายามเดินเยอะๆ ตั้งแต่วันแรกหลังผ่าตัด เพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้ นอกจากนี้การเดินยังช่วยลดโอกาสการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดได้อีกด้วย
- ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน เพื่อให้อุจจาระนิ่มขึ้น และขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
- รับประทานอาหารไฟเบอร์สูงเพิ่ม ในทุกๆ 1,000 กิโลแคลอรี่ของอาหารที่รับประทานเข้าไป ควรเพิ่มไฟเบอร์ไปอีก 15 กรัม แต่ก็ต้องระวังอาหารพวกแป้งหรือน้ำตาลด้วย โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกหลังผ่าตัดอาหารไฟเบอร์เยอะ เช่น ผักใบเขียว บรอกโคลี แครอท หรือผลไม้ต่างๆ เช่น สตรอเบอรี่ แอปเปิ้ล เป็นลูกๆ ไม่แนะนำเป็นน้ำผลไม้
- ไม่ควรรับประทานผักสดในช่วง 3 เดือนแรกหลังผ่าตัดเพราะว่าย่อยยาก ให้ทานเป็นผักต้มหรือนึ่งจะดีกว่า
- สามารถทานยาระบายได้หาก 7 วันแล้วยังไม่ถ่าย ยาระบายที่แนะนำมีดังนี้
- Milk of Magnesia
- Senokot หรือ Senna
- Dulcolax
- หากรับประทานยาระบายแล้วยังไม่ถ่าย สามารถใช้ยาสวนทวาร Unison ได้
- สำหรับท่านที่ต้องการทานไฟเบอร์เสริม พยายามเลือกแบบที่ไม่มีน้ำตาลหรือสารให้ความหวาน และต้องดื่มน้ำเปล่าให้ถึง 2 ลิตรต่อวัน ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินอาหารได้
- โปรไบโอติก ที่พบได้ในโยเกิร์ต ชีส สามารถช่วยลดอาการท้องผูกได้ แต่ให้ระวังในเรื่องน้ำตาลด้วยนะคะ